3 พฤศจิกายน 2564
เห็นว่า กรณีตัวแทนจากภาควิชาในคณะ ฯ นั้น ตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย คณะกรรมการบริหารคณะ สำนักวิชา และวิทยาลัย พ.ศ. 2554 กำหนดองค์ประกอบที่มาจากภาควิชาไว้ 2 ส่วน คือ 1. กรรมการบริหารคณะ ฯ ประเภทหัวหน้าภาควิชา ตามข้อ 5 (3) ซึ่งมาจากทุกภาควิชาในคณะ ฯ และ 2. กรรมการบริหารคณะ ฯ ประเภทผู้แทนคณาจารย์ประจำ ตามข้อ 5 (4) ซึ่งมาจากทุกภาควิชาในคณะ ฯ เช่นกัน โดยข้อ 8 กำหนดให้ในกรณีที่มีภาควิชา จะเป็นอาจารย์ในภาควิชาเดียวกันมิได้ เว้นแต่มีจำนวนกรรมการมากกว่าจำนวนภาควิชาและมีกรรมการมาจากทุกภาควิชาแล้ว
อนึ่ง ในกรณีที่มีกรรมการประเภทผู้แทนคณาจารย์ประจำ พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย คณะกรรมการบริหารคณะ สำนักวิชา และวิทยาลัย พ.ศ. 2554 ได้กำหนดว่า ให้ดำเนินการเลือกกรรมการใหม่ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยให้อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระ ที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ตามข้อ 6 วรรคสอง และกำหนดที่มาของกรรมการประเภทผู้แทนคณาจารย์ประจำตามข้อ 5 (4) ให้มาจากการเลือกตั้งของคณาจารย์ประจำในส่วนงาน ประกอบกับความใน 3. ของ “หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนคณาจารย์ประจำตามข้อ 5 (4) ท้ายข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย คณะกรรมการบริหารคณะ สำนักวิชา และวิทยาลัย พ.ศ. 2554” กำหนดให้คณาจารย์ประจำที่สังกัดส่วนงานนั้น ซึ่งผ่านการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานแล้ว เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการประเภทผู้แทนคณาจารย์ประจำตามข้อ 5 (4) นั้น หมายความว่าเป็นผู้แทนของคณาจารย์ทั้งปวงในส่วนงาน มิใช่เป็นผู้แทนของคณาจารย์ของภาควิชาใดภาควิชาหนึ่งหรือทุกภาควิชาของส่วนงานในกรณีที่ส่วนงานมีภาควิชา ส่วนกรณีที่ความในข้อ 8 กำหนดให้ในกรณีที่มีภาควิชา จะเป็นอาจารย์ในภาควิชาเดียวกันมิได้ เว้นแต่มีจำนวนกรรมการมากกว่าจำนวนภาควิชาและมีกรรมการมาจากทุกภาควิชาแล้ว ประกอบกับความใน 5. วรรคสอง ของหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนคณาจารย์ประจำตามข้อ 5 (4) ท้ายข้อบังคับฯ กำหนดให้คณาจารย์ผู้ได้รับเลือกตั้งที่มาจากภาควิชาเดียวกันเกินกว่าหนึ่งคน จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเพียงหนึ่งคนนั้น เป็นการกำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์ทุกภาควิชาสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการของส่วนงานอย่างเสมอภาคกันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรรมการบริหารคณะA ประเภทผู้แทนคณาจารย์ประจำที่มีอยู่มาจากภาควิชาต่างๆ ยังไม่ครบทุกภาควิชา ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารคณะฯ ประเภทผู้แทนคณาจารย์ประจำทดแทนตำแหน่งที่จะว่างลงดังกล่าว จึงต้องมาจากภาควิชาที่ยังไม่มีคณาจารย์เป็นกรรมการบริหารคณะฯ ประเภทผู้แทนคณาจารย์ประจำ อยู่ในขณะนั้น