หัวข้อยอดนิยม

การให้บริการด้านต่างๆ ของศูนย์กฎหมายและนิติการ

อุทธรณ์ร้องทุกข์บุคลากร/นิสิต

8 พฤษภาคม 2567

อุทธรณ์ร้องทุกข์บุคลากร
สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยและพนักงานวิสามัญ

  • อุทธรณ์

    อุทธรณ์ หมายถึง กรณีที่บุคคลเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติงาน การไม่ต่อสัญญาปฏิบัติงาน การเลิกสัญญาปฏิบัติงานหรือการถูกลงโทษทางวินัย และประสงค์ที่จะโต้แย้งเหตุดังกล่าว

  • ร้องทุกข์

    ร้องทุกข์ หมายถึง กรณีที่บุคคลเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจอันเกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และประสงค์ที่จะร้องทุกข์กรณีดังกล่าว

สำหรับข้าราชการ

  • อุทธรณ์

    หมายถึง กรณีที่บุคคลถูกสั่งลงโทษทางวินัยด้วยการภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ปลดออกหรือไล่ออก และประสงค์ที่จะโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว

  • ร้องทุกข์

    หมายถึง กรณีที่บุคคลเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความคับข้องใจอันเกิดจากการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่ไม่รวมถึงการสั่งลงโทษหรือการสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และประสงค์ที่จะร้องทุกข์กรณีดังกล่าว

เรื่องที่อยู่ในขอบเขตการให้บริการ

        การอุทธรณ์และร้องทุกข์ของพนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานวิสามัญ ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แต่ไม่รวมถึงพนักงานประเภทอื่นที่มีข้อบังคับ ระเบียบกำหนดเกี่ยวกับการอุทธรณ์ร้องทุกข์ไว้เป็นการเฉพาะ และไม่รวมถึงการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษวินัยของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ที่ลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการที่กฎหมายกำหนดให้ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์ (ก.อ.ร.)

กระบวนการยื่นเรื่องอุทธรณ์

        1. ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์
สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยและพนักงานวิสามัญ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานบุคคลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการประเมินการปฏิบัติ ผลการไม่ต่อสัญญาปฏิบัติงาน ผลการเลิกสัญญาปฏิบัติงาน หรือคำสั่งลงโทษทางวินัย
        สำหรับข้าราชการ กรณีถูกลงโทษทางวินัยด้วยการภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานบุคคลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษทางวินัย
        2. ให้ยื่นเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานบุคคล ที่ศูนย์กฎหมายและนิติการ โดยในหนังสือให้ระบุชื่อผู้อุทธรณ์ สังกัด วิธีการติดต่อ ระบุข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จะอุทธรณ์ ข้อโต้แย้ง และข้อกฎหมาย (หากมี) และคำขอ และลงลายมือชื่อของตน

กระบวนการยื่นเรื่องร้องทุกข์

        1. ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์
สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยและพนักงานวิสามัญ มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานบุคคลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบการกระทำหรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
        สำหรับข้าราชการ มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานบุคคลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งถึงการกระทำหรือได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
        2. ให้ยื่นเป็นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์การบริหารงานบุคคล ที่ศูนย์กฎหมายและนิติการ โดยในหนังสือให้ระบุชื่อผู้ร้องทุกข์ สังกัด วิธีการติดต่อ ระบุข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จะร้องทุกข์ ข้อโต้แย้ง และข้อกฎหมาย (หากมี) และคำขอ และลงลายมือชื่อของตน

กระบวนการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์

        1. ศูนย์กฎหมายและนิติการในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบหนังสืออุทธรณ์หรือร้องทุกข์ให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนนัดหมายคณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ต่อไป
        2. เมื่อรับเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว จะแจ้งสิทธิตามกฎหมายปกครองให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ร้องทุกข์ทราบ
        3. คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องเว้นแต่มีเหตุผลและความจำเป็นจะขออนุมัติสภามหาวิทยาลัยขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
        4. เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ ศูนย์กฎหมายและนิติการในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ จะแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ไปยังผู้อุทธรณ์หรือผู้ร้องทุกข์ทราบ พร้อมทั้งแจ้งอธิการบดี หัวหน้าส่วนงานหรือคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อสั่งการและดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือร้องทุกข์
        สำหรับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเสร็จจะเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณามีมติต่อไป จากนั้นศูนย์กฎหมายและนิติการจะแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ไปยังผู้อุทธรณ์หรือผู้ร้องทุกข์ทราบ พร้อมทั้งแจ้งอธิการบดี หัวหน้าส่วนงานหรือคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพื่อสั่งการและดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือร้องทุกข์
        5. การแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ตามข้อ 4 จะแจ้งให้ทราบพร้อมกับการแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
6. หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามกลุ่มภารกิจงานอุทธรณ์ร้องทุกข์และสัญญา หมายเลขโทรศัพท์ 022180488 โทรสาร 022180175 e-mail : chula.clla@gmail.com

อุทธรณ์ร้องทุกข์นิสิต

อุทธรณ์ หมายถึง กรณีที่นิสิตได้รับคำสั่งหรือถูกลงโทษตามข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย และประสงค์ที่จะโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว

ร้องทุกข์

ร้องทุกข์ หมายถึง กรณีที่นิสิตเห็นว่ามหาวิทยาลัย หน่วยงานของมหาวิทยาลัย หรือบุคลากรใช้อำนาจหน้าที่หรือกระทำการใดๆ ต่อตนโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศของมหาวิทยาลัย หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการเรียนการสอน และประสงค์ที่จะร้องทุกข์กรณีดังกล่าว

เรื่องที่อยู่ในขอบเขตการให้บริการ

        การอุทธรณ์และร้องทุกข์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา

กระบวนการยื่นเรื่องอุทธรณ์

1. ระยะเวลาการยื่นเรื่องอุทธรณ์ ให้นิสิตยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ด้วยตนเองภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ตนได้รับทราบคำสั่ง
2. ให้ยื่นคำอุทธรณ์เป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของนิสิต ต่อประธานกรรมการฯ ที่ศูนย์กฎหมายและนิติการ
3. หนังสืออุทธรณ์ต้องประกอบด้วย
                (1) ข้อโต้แย้งคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง ปัญหาข้อกฎหมาย หรือในการใช้ดุลยพินิจ
                (2) เหตุผลประกอบข้อโต้แย้งนั้น และพยานหรือหลักฐานที่จะใช้แสดงประกอบข้อโต้แย้ง (ถ้ามี)
                (3) คำขออุทธรณ์

กระบวนการยื่นเรื่องร้องทุกข์

        1. ระยะเวลาการยื่นคำร้องทุกข์ ให้นิสิตยื่นต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานของมหาวิทยาลัยซึ่งเกิดกรณีด้วยตนเอง ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบหรือควรจะได้ทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์
        2. ให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานของมหาวิทยาลัยซึ่งเกิดกรณี พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน แล้วแจ้งให้นิสิตทราบ
        3. กรณีที่นิสิตไม่พอใจผลการพิจารณาตามข้อ 2 หรือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานของมหาวิทยาลัยซึ่งเกิดกรณี พิจารณาไม่แล้วเสร็จหรือไม่พิจารณาภายในสิบห้าวัน นิสิตมีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิตภายในสามสิบวัน
        4. การจัดทำคำร้องทุกข์ที่ยื่นต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานของมหาวิทยาลัยซึ่งเกิดกรณี หรือคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ให้จัดทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของนิสิตโดยให้ยื่นด้วยตนเอง
        5. ในหนังสือให้ระบุชื่อผู้ร้องทุกข์ สังกัด วิธีการติดต่อ ระบุข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จะร้องทุกข์ ข้อโต้แย้ง และข้อกฎหมาย (หากมี) และคำขอ
        6. การยื่นเรื่องร้องทุกข์ให้ยื่นต่อประธานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์นิสิต ที่ศูนย์กฎหมายและนิติการ

กระบวนการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์

        1. ศูนย์กฎหมายและนิติการในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบหนังสืออุทธรณ์หรือร้องทุกข์ให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนนัดหมายคณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ต่อไป
        2. เมื่อรับเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว จะแจ้งสิทธิตามกฎหมายปกครองให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ร้องทุกข์ทราบ
        3. คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องเว้นแต่มีเหตุผลและความจำเป็นจะขออนุมัติอธิการบดีขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
        4. เมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ จะเสนออธิการบดีพิจารณาสั่งการ จากนั้น ศูนย์กฎหมายและนิติการในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ จะแจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ไปยังผู้อุทธรณ์หรือผู้ร้องทุกข์ทราบ พร้อมทั้งแจ้งบุคลากรหรือส่วนงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการตามที่อธิการบดีสั่งการ
        5. การแจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ตามข้อ 4 จะแจ้งให้ทราบพร้อมกับการแจ้งสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามกลุ่มภารกิจงานอุทธรณ์ร้องทุกข์และสัญญา หมายเลขโทรศัพท์ 022180488, 022180489 e-mail : saraban_clla@chula.ac.th