23 พฤศจิกายน 2566
การสอบสวนหาข้อเท็จจริง เป็นการดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาตรวจสอบและเสนอความเห็นต่อหัวหน้าส่วนงานเพื่อสั่งการต่อไป หากเป็นการกล่าวหาร้องเรียนทางวินัย จะเรียกว่าการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบว่ากรณีที่ร้องเรียนนั้นมีมูลหรือมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลที่ถูกร้องเรียนอาจมีการกระทำผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนหรือไม่
การรับเรื่องร้องเรียนหรือไม่ ให้พิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวมีสาระสำคัญประกอบด้วย ชื่อผู้กล่าวหา (ถ้ามี) ชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยและพยานหลักฐานเท่าที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) โดยข้อมูลข้อเท็จจริงและพฤติการณ์จะต้องเพียงพอที่จะทำให้เข้าใจหรือสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไปได้ กรณีเป็นบัตรสนเท่ห์ ให้พิจารณาเฉพาะรายที่ระบุหลักฐาน กรณีแวดล้อมปรากฏชัดแจ้ง ตลอดจนชี้แจงพยานบุคคลแน่นอนเท่านั้น
เมื่อส่วนงานได้รับเรื่องร้องเรียนหรือความปรากฏแก่หัวหน้าส่วนงาน ให้หัวหน้าส่วนงานพิจารณามอบหมายบุคคลหรือแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งทำหน้าที่สอบสวนหาข้อเท็จจริงหรือสืบสวนหาข้อเท็จจริง ประกอบด้วยประธานหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกจำนวนสองคนถึงห้าคน ให้มีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร แล้วเสนอความเห็นต่อหัวหน้าส่วนงานพิจารณาสั่งการต่อไป ทั้งนี้ กรณีที่เป็นการร้องเรียนกล่าวหาบุคคลใด คณะกรรมการต้องให้โอกาสบุคคลนั้นชี้แจงแสดงพยานหลักฐานของตนด้วย
กรณีมีหลักฐานตามควรหรือความปรากฏว่าได้กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง ให้หัวหน้าส่วนงานสอบสวนและสั่งลงโทษตามควรแก่กรณี
กรณีมีหลักฐานตามควรหรือความปรากฏว่าได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง ให้หัวหน้าส่วนงานเสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป
อนึ่ง ขอให้ส่วนงานปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2557 รวมถึงกฎหมาย กฎ ระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง และอาจศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. http://www.ocsc.go.th และเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม http://www.mhesi.go.th