หัวข้อยอดนิยม

การให้บริการด้านต่างๆ ของศูนย์กฎหมายและนิติการ

หนังสือมอบอำนาจ

17 ธันวาคม 2564

หนังสือมอบอำนาจ คืออะไร

        หนังสือมอบอำนาจ คือ เอกสารการรับมอบอำนาจจากอธิการบดีในฐานะผู้ดํารงตําแหน่งที่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติหรือดําเนินการตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 กฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ที่ได้มอบอํานาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติการหรือการดําเนินการอื่นใดตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นหรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติการแทนอธิการบดี

เรื่องที่อยู่ในขอบเขตการให้บริการ

        1. การให้บริการทางวิชาการที่จะต้องมีการมอบอำนาจช่วงให้หัวหน้าโครงการหรือคณะทำงานในโครงการตามระเบียบหรือวิธีปฏิบัติของผู้ว่าจ้าง
        2. หัวหน้าส่วนงานไม่อาจลงนามหรือดำเนินการอื่นตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 6322/2563 ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้เป็นการชั่วคราว ณ ขณะนั้น โดยผู้ว่าจ้างขอให้มอบอำนาจให้หัวหน้าโครงการดำเนินการเฉพาะเรื่องนั้น
        3. การลงนามในบันทึกข้อตกลง บันทึกความร่วมมือที่ส่วนงานและหน่วยงานคู่ตกลงได้ตกลงกันให้หัวหน้าส่วนงานเป็นผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีลงนามในบันทึกข้อตกลง บันทึกความร่วมมือ
        4. การขอหรือต่อใบอนุญาตกับหน่วยงานของรัฐ การขอนำเข้า-ส่งออกทางพิธีการศุลการกร การรังวัดสอบเขตที่ดิน
        5. กรณีอื่นที่นอกเหนือจากคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 6322/2563 ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563
        6. กรณีเนื้อหาของโครงการมีวัตถุประสงค์หลักในการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ขอให้ติดต่อประสานงานกับสำนักบริหารวิจัยต่อไป

กระบวนการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ

        1. ส่วนงานจัดเตรียมร่างหนังสือมอบอำนาจ (ตัวอย่างหรือแบบหนังสือมอบอำนาจ สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ศูนย์กฎหมายและนิติการในหัวข้อ “เอกสารdownload”) พร้อมเอกสารประกอบ โดยใช้ข้อมูลที่คู่ตกลงได้ตกลงชื่อโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับมอบอำนาจอย่างชัดเจนร่วมกัน หรือตามที่หน่วยงานที่เป็นผู้ว่าจ้างได้กำหนดมาไว้แล้ว (โปรดดูหัวข้อถัดไป)
        2. ข้อความในหนังสือมอบอำนาจต้องระบุชื่อหัวหน้าส่วนงานผู้ขอรับมอบอำนาจ เรื่องหรือกิจกรรมที่จะขอรับมอบอำนาจ ชื่อบุคคลหรือหน่วยงานคู่ตกลงหรือคู่สัญญา
        3. ส่วนงานติดต่อประสานงานกับนิติกรเพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องของร่างหนังสือมอบอำนาจก่อนที่หัวหน้าส่วนงานและพยานจำนวนสองคนจะลงนามในหนังสือมอบอำนาจ จากนั้นจึงส่งบันทึกข้อความที่ลงนามโดยหัวหน้าส่วนงานพร้อมหนังสือมอบอำนาจและเอกสารประกอบตามข้อ 1 เพื่อขอรับมอบอำนาจจากอธิการบดี
        4. เมื่ออธิการบดีพิจารณาลงนามแล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายและนิติการจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ส่วนงานทราบเพื่อรับหนังสือมอบอำนาจคืน

เอกสารประกอบ

        1. สำเนาหรือร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ บันทึกความเข้าใจ สัญญาจ้างที่ปรึกษา สำเนาข้อเสนอโครงการ สำเนาหนังสือรับรองที่ปรึกษาไทย ฯลฯ กรณีที่หน่วยงานภายนอกกำหนดแบบของหนังสือมอบอำนาจให้จัดส่งแบบดังกล่าวมาด้วย
        2. สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ขอรับมอบอำนาจ และสำเนาคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าส่วนงานพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
        3 สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอรับมอบอำนาจ ในกรณีที่ใช้บัตรประจำตัวประชาชนหรือกรณีเป็นการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต
        4 สำเนาหนังสือมอบอำนาจฉบับเดิม (ถ้ามี)
        
หมายเหตุ : การขอให้ส่วนงานและผู้รับมอบอำนาจแสดงสำเนาบัตรประจำตัว สำเนาคำสั่งแต่งตั้ง สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นไปตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ บันทึกความเข้าใจ หรือเป็นไปตามที่หน่วยงานภายนอกกำหนด โดยศูนย์กฎหมายและนิติการจะนำเอกสารและข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องก่อนเสนอเรื่องต่ออธิการบดีลงนามในหนังสือมอบอำนาจ และภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น

ข้อควรระวังในหนังสือมอบอำนาจ

        1. การจัดทำหนังสือมอบอำนาจควรใช้กระดาษขาวที่มีตราพระเกี้ยวสีชมพูบนหัวกระดาษ (เว้นแต่หน่วยงานนั้นๆ ระบุให้ใช้แบบฟอร์มเฉพาะของหน่วยงาน)
        2. ส่วนงานที่ขอรับมอบอำนาจควรตรวจสอบข้อมูลและข้อความในหนังสือมอบอำนาจให้ถูกต้องและครบถ้วนอีกครั้งก่อนเสนอเรื่องมาที่ศูนย์กฎหมายและนิติการ
        3. การพิมพ์ตก การพิมพ์เกิน การพิมพ์เครื่องหมายวงเล็บ การพิมพ์เครื่องหมายวรรคตอน
        4. การระบุชื่อตำแหน่ง ชื่อหน่วยงาน และชื่อบุคคลที่เป็นผู้รับมอบอำนาจ และผู้ที่เป็นคู่ตกลง
        5. การเขียนชื่อของแต่ละหน่วยงานต้องเขียนชื่อเต็มของหน่วยงานแต่ละฝ่าย (และกรณีที่กำหนดให้ใช้ตัวอักษรย่อในร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่างบันทึกความเข้าใจ หรือร่างสัญญา ให้ใส่อักษรย่อดังกล่าวท้ายชื่อเต็มมาด้วย)
        6. การเขียนชื่อโครงการต้องเขียนชื่อเต็มตามร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่างบันทึกความเข้าใจ หรือตามที่คู่ตกลงทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนด

ข้อควรระวังในการดำเนินการขอมอบอำนาจ

        1. ไม่อนุญาตให้มีการมอบอำนาจช่วง เว้นแต่จะมีเหตุผลที่ชัดเจนเพียงพอ และการมอบอำนาจช่วงจะต้องมอบให้กับหัวหน้าโครงการหรือบุคคลที่ถูกระบุโดยเฉพาะเจาะจง เช่น อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่คู่ตกลงระบุตัวมา
        2. ไม่อนุญาตให้มีการมอบอำนาจให้กระทำการย้อนหลัง
        3. โครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับมอบอำนาจควรมีระยะเวลาไม่เกินวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีและหัวหน้าส่วนงาน
        4. ให้ส่งหนังสือมอบอำนาจและหลักฐานทั้งหมด ผ่านทางศูนย์กฎหมายและนิติการ ก่อนจะไปดำเนินการกับหน่วยงานภายนอกอย่างน้อย 7 วันทำการเต็ม (และไม่นับรวมวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ก่อนดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การเสนอเรื่องหนังสือมอบอำนาจจะเป็นไปตามลำดับเรื่องที่ศูนย์กฎหมายและนิติการได้รับตามระบบสารบรรณ

หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามกลุ่มภารกิจงานอุทธรณ์ร้องทุกข์และสัญญา หมายเลขโทรศัพท์ 022180488 โทรสาร 022180175 e-mail : chula.clla@gmail.com