หัวข้อยอดนิยม

การให้บริการด้านต่างๆ ของศูนย์กฎหมายและนิติการ

ผิดสัญญารับทุน สัญญาทางพัสดุ

15 มีนาคม 2566

สัญญาลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย และสัญญาการรับทุน

การลาศึกษา คืออะไร
การลาฝึกอบรม คืออะไร
ทุน คืออะไร

        “การลาศึกษา” หมายความว่า การลาเพื่อไปเพิ่มพูนคุณวุฒิเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง หรือประกาศนียบัตรอื่นใดที่เทียบเท่าได้กับปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิต และให้หมายความรวมถึง การฝึกฝนภาษา การรับคำแนะนำก่อนการเข้าศึกษา หรือการฝึกอบรม ที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเงื่อนไขของการเพิ่มพูนคุณวุฒินั้นด้วย
        “การลาฝึกอบรม” หมายความว่า การลาเพื่อไปพัฒนาความรู้ ทักษะ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ด้านการสอน การวิจัย หรือการอบรมสัมมนา โดยไม่ได้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง หรือประกาศนียบัตรอื่นใดที่เทียบเท่าได้กับปริญญาหรือประกาศนียบัตรบัณฑิต และให้หมายความรวมถึงการฝึกฝนภาษาหรือการรับคำแนะนำก่อนเข้าฝึกอบรมที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเงื่อนไขของการฝึกอบรมนั้นด้วย ทั้งนี้ ต้องมิใช่การลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ
        “ทุน” หมายความว่า เงินที่ผู้รับทุน ผู้ลาศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย และปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศได้รับไปจากราชการหรือจากเจ้าของทุน เพื่อไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย และปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณหรือเงินอื่นใด รวมทั้งเงินที่รัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ นิติบุคคลต่างประเทศ
นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาในประเทศมอบให้แก่รัฐบาลหรือส่วนราชการซึ่งรัฐบาล หรือส่วนราชการตกลงรับไว้ แต่ไม่รวมถึงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินช่วยเหลือจากทางราชการในลักษณะเดียวกันที่เรียกชื่ออย่างอื่น

เรื่องที่อยู่ในขอบเขตการให้บริการ

        1. การตรวจร่างสัญญาการรับทุนของมหาวิทยาลัยหรือของส่วนงานที่มีการให้ทุน นิสิต บุคลากร และสัญญา
ค้ำประกันสัญญาดังกล่าว
        2. การจัดทำสัญญาการรับทุนต่างๆ ที่สำนักบริหารวิชาการเป็นผู้รับผิดชอบ (กรณีสัญญาลาศึกษาฯ มหาวิทยาลัย
ได้มอบอำนาจให้ส่วนงานเป็นผู้จัดทำสัญญา)
        3. การคำนวณหนี้ในกรณีที่มีการปฏิบัติผิดสัญญาลาศึกษาฯ และสัญญาการรับทุน (เฉพาะกรณีที่มหาวิทยาลัย
มีคำสั่งให้ลาออกจากการปฏิบัติงานแล้วเท่านั้น)
        4. ทำหนังสือทวงถามผู้ผิดสัญญาและผู้ค้ำประกัน มาชำระหนี้ให้แก่มหาวิทยาลัย

กระบวนการจัดทำสัญญาการรับทุน

        1. ส่วนงานที่ผู้รับทุนสังกัดติดต่อสำนักบริหารวิชาการเพื่อจัดเตรียมสัญญา กำหนดวันเพื่อทำสัญญาพร้อมสัญญา
ค้ำประกัน
        2. สำนักบริหารวิชาการติดต่อประสานงานนิติกรเพื่อกำหนดวันเพื่อทำสัญญาพร้อมสัญญาค้ำประกัน
        3. ในวันทำสัญญานิติกรให้คำแนะนำการจัดทำสัญญาให้แก่ผู้รับทุนและผู้ค้ำประกัน พร้อมทั้งตรวจสอบให้ผู้รับทุนและผู้ค้ำประกันกรอกข้อความในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วน และลงชื่อในช่องพยานในสัญญาดังกล่าว พร้อมทั้งติดอากรแสตมป์ลงในสัญญาพร้อมขีดฆ่า
        4. สำนักบริหารวิชาการเสนอสัญญาให้อธิการบดีพิจารณาลงนาม เมื่ออธิการบดีลงนามแล้ว สำนักบริหารวิชาการ จะแจ้งให้ผู้รับทุนมารับคู่ฉบับสัญญาพร้อมสัญญาค้ำประกัน และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ส่วนงานทราบ

เอกสารประกอบการทำสัญญาการรับทุนและสัญญาค้ำประกัน

        1. เอกสารของผู้รับทุน /คู่สมรสของผู้รับทุน (ถ้ามี)
                1.1 สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
                1.2 สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
                1.3 สำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับสถานภาพการสมรส (ทะเบียนสมรส/ใบสำคัญการหย่า/ใบมรณบัตรของ
คู่สมรส)
                1.4 สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)

        2. เอกสารของผู้ค้ำประกัน/คู่สมรสของผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี)
                2.1 สำเนาบัตรประชาชน/บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
                2.2 สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
                2.3 สำเนาเอกสารที่เกี่ยวกับสถานภาพการสมรส (ทะเบียนสมรส/ใบสำคัญการหย่า/ใบมรณบัตรของ
คู่สมรส)
                2.4 สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)

        3. ค่าอากรแสตมป์ในการทำสัญญา
                3.1 สัญญาการรับทุน ชุดละ 1 บาท
                3.2 สัญญาค้ำประกันสัญญาการรับทุน ต้นฉบับสัญญาชุดละ 10 บาท คู่ฉบับสัญญาชุดละ 5 บาท

ข้อควรระวังในการจัดทำสัญญาและสัญญาค้ำประกัน

        1. จัดให้ผู้รับทุน คู่สมรส ผู้ค้ำประกันและคู่สมรส ลงนามในสัญญาต่อหน้าเจ้าหน้าที่
        2. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน
        3. ตรวจสอบการกรอกข้อความในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วน
        4. กรณีที่มีการเขียนคำผิด ไม่ควรใช้วิธีการลบออกแล้วเขียนใหม่ ควรให้ขีดฆ่าพร้อมลงชื่อกำกับ และเขียนใหม่ให้ถูกต้อง
        5. การระบุชื่อ-สกุล ตำแหน่ง ชื่อหน่วยงาน และผู้ที่เป็นคู่สัญญา ควรเขียนให้ถูกต้องและชัดเจน
        6. ตรวจสอบเอกสารประกอบสัญญาให้ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสัญญา        
        7. ตรวจสอบวันหมดอายุของบัตรประจำตัวประชาชน

คุณสมบัติของผู้ค้ำประกันสัญญาลาศึกษา สัญญาการรับทุน (เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการทำสัญญาและการชดใช้เงินกรณีรับทุน ลาศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย และปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ พ.ศ.2548)

        1. ให้ บิดา หรือมารดา เป็นผู้ค้ำประกัน โดยไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ประกอบการทำสัญญาค้ำประกัน
        2. ถ้าไม่มีบุคคลตามข้อ 1 ให้พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน เป็นผู้ค้ำประกัน โดยไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ประกอบการทำสัญญาค้ำประกัน
        3. ถ้าไม่มีบุคคลตามข้อ 1 หรือ 2 ให้ บุคคลอื่น เป็นผู้ค้ำประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์ เว้นแต่ ในกรณีที่ไม่สามารถแสดงหลักทรัพย์ได้ให้พิจารณาจากฐานะและรายได้แทน
        4. ถ้าหาบุคคลค้ำประกันตามข้างต้นไม่ได้ ให้มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หากปรากฏว่าผู้ทำสัญญาไม่มีบุคคลค้ำประกันจริง ก็สามารถให้ทำสัญญาโดยไม่มีบุคคลค้ำประกันก็ได้

หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามกลุ่มภารกิจงานบริหารสัญญาทางปกครอง หมายเลขโทรศัพท์ 022180173 โทรสาร 022180175 e-mail : saraban_clla@chula.ac.th